AI กับการพัฒนาโค้ด: จาก Tool สู่ "เพื่อนร่วมทีม" ทำงานร่วมกันยังไงให้ Productive

AI
by Thuchpun A.
a6858ce4-47b0-49c0-9b1a-7b9431b55b8d.webp

ในปี 2024 ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า AI กำลังก้าวจากบทบาท "ผู้ช่วย" (Sidekick) ไปเป็น "ทีมเมมเบอร์" (Team Member) ตัวจริงของทีมพัฒนา เครื่องมือ AI หลาย ๆ ตัวอย่างเช่น GitHub Copilot, ChatGPT, หรือ Cursor ไม่ได้ถูกใช้แค่เพื่อถามเล่น ๆ หรือ Generate โค้ดทดลองเหมือนแต่ก่อน แต่เริ่มถูกผสานเข้าไปใน Workflow ของทีมอย่างจริงจัง เรากำลังมี "ทีมเมมเบอร์" คนใหม่ที่ไม่หลับ ไม่เหนื่อย และไม่บ่น คอยทำงานอยู่ข้าง ๆ เราตลอดเวลา

ย้อนกลับไปในบทความ "AI จะแย่งงานเรา?!!!" ปรับตัวอย่างไรในวันที่ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เราได้พูดถึงวิธีการปรับตัวเมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน โดยเน้นการใช้ AI เป็นผู้ช่วยคิด ช่วยเขียนโค้ด และช่วยตรวจสอบงาน แต่เมื่อเทคโนโลยี AI พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คำถามใหม่ที่เกิดขึ้นคือ "ทำอย่างไรให้การใช้ AI ช่วยเพิ่ม Productivity อย่างแท้จริง?" เพราะหลายทีมพบว่าการนำ AI มาใช้โดยขาดกลยุทธ์ที่เหมาะสมกลับทำให้เสียเวลามากกว่าเดิม

บทความนี้จะนำเสนอวิธีการออกแบบ Workflow ที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกับ AI เพื่อเพิ่ม Productivity อย่างแท้จริง โดยมองว่า AI เป็นทีมเมมเบอร์ที่มีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัด เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของ AI อย่างลึกซึ้ง และรู้จักมอบหมายงานที่เหมาะสม ทีมของเราจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดเวลาในงานซ้ำซาก และมีเวลาให้กับงานสร้างสรรค์ที่สร้างมูลค่าสูงมากขึ้น


AI ไม่ใช่แค่ Tool แต่เป็น "เพื่อนร่วมทีม" - มุมมองใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกันระหว่าง Developer และ AI

ถ้าเรายังมองว่า AI เป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่ง เราอาจพลาดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มที่ อยากจะชวนให้ผู้อ่านลองเปลี่ยนมุมมองดู คิดซะว่า AI คือ Junior Developer คนหนึ่งในทีมเรา ที่อาจยังต้องมีคนคอยช่วยแนะนำหรือบรีฟงานอยู่บ้าง แต่ถ้าใช้งานให้ถูกทาง เจ้า AI นี่แหละจะช่วยแบ่งเบาภาระ ทำให้ทีมเราทำงานได้เร็วขึ้น และอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการลุยคนเดียวเยอะเลย

จุดแข็งของ AI

  • ทำงานได้ตลอดเวลา: AI ทำงานได้ตลอดเวลาโดยไม่เหนื่อยล้า ไม่มีผลกระทบจากอารมณ์หรือปัญหาสุขภาพ ทำให้รักษาประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ
  • ประมวลผลข้อมูลปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว: AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ค้นหาแพทเทิร์นที่ซับซ้อนได้ และไม่เกิดความผิดพลาดจากความเหนื่อยล้า
  • เรียนรู้แพทเทิร์นโค้ดได้ดี: AI สามารถจดจำรูปแบบการเขียนโค้ดที่หลากหลายได้ เสนอวิธีแก้ปัญหาได้หลายรูปแบบ และรู้จักแพทเทิร์นการออกแบบซอฟต์แวร์มาตรฐาน
  • ทำงานซ้ำซากได้อย่างรวดเร็ว: AI ไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ เหมาะกับการสร้างโค้ดพื้นฐาน เช่น CRUD, unit tests ได้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ

ข้อจำกัดของ AI

  • ขาดความเข้าใจบริบท (Context) ของโปรเจคโดยรวม: AI ไม่เข้าใจภาพรวมโครงการที่ได้จากการประชุมและการสื่อสารนอกห้องแชท ไม่รู้จักวัฒนธรรมองค์กรและประวัติการพัฒนาโครงการ
  • ไม่เข้าใจความต้องการทางธุรกิจเบื้องลึก (Business Requirements): AI ไม่เข้าใจเป้าหมายธุรกิจเบื้องหลังความต้องการทางเทคนิค ไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างครบถ้วน
  • ไม่สามารถตรวจจับปัญหาที่อยู่นอกเหนือข้อมูลที่ให้: AI รู้เฉพาะสิ่งที่ได้รับข้อมูล ไม่สามารถระบุปัญหาจากระบบที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ได้กล่าวถึง ขาดความสามารถในการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์
  • อาจสร้างโค้ดที่ดูดีแต่มีช่องโหว่: AI สร้างโค้ดที่ทำงานได้แต่อาจมีปัญหาด้านความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมจริง ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบโดยรวม

การเข้าใจทั้งจุดแข็งและข้อจำกัดของ AI จะช่วยให้เราสามารถออกแบบ Workflow ที่เหมาะสม มอบหมายงานที่ตรงกับความสามารถ และเสริมในส่วนที่ AI ยังทำได้ไม่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่ม Productivity อย่างแท้จริง


ทำไมบางทีม "ใช้ AI แล้วไม่ช่วยเพิ่ม Productivity"?

หลายทีมอาจเริ่มต้นนำ AI เข้ามาใช้งานด้วยความคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่สุดท้ายกลับพบว่ามันไม่ได้ช่วยให้ทีมทำงานดีขึ้นอย่างที่คิด อาจจะยังสงสัยว่าเกิดจากอะไรบ้าง ลองมาดูสาเหตุหลัก ๆ ที่พบกันบ่อย และวิธีแก้ไขที่เป็นรูปธรรมกันดีกว่า

การสื่อสารและบริบท (Communication และ Context) หลายครั้งที่เราขอให้ AI ช่วยทำอะไรบางอย่าง แต่คำสั่งที่ให้กลับคลุมเครือเกินไป ตัวอย่างเช่น การสั่งว่า “ช่วยเขียนระบบ Login ให้หน่อย” แบบนี้ AI ก็อาจจะไม่รู้ว่าเราใช้ framework อะไร หรือมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับไหนที่ต้องคำนึงถึง ผลลัพธ์ที่ได้ก็เลยไม่ตรงกับสิ่งที่ทีมต้องการ วิธีที่ดีกว่าคือให้รายละเอียดไปชัด ๆ ไปเลย เช่น “เขียนระบบ Login โดยใช้ Django กับ JWT พร้อม validation สำหรับกรณี token หมดอายุ, รหัสผ่านผิด และกำหนด HTTP status code ที่เหมาะสม” แบบนี้ AI จะมีข้อมูลเพียงพอในการสร้างโค้ดที่ตรงตามโจทย์ที่ต้องการ

อีกประเด็นหนึ่งที่มักพลาดกันคือ ไม่ให้ AI รู้จักบริบทของโปรเจคเลย ขอให้มันช่วยเขียนโค้ดโดยไม่ได้อธิบายภาพรวมของระบบปัจจุบัน หรือไม่บอกเลยว่าใช้ architecture แบบไหนอยู่ ซึ่งพอ AI ไม่รู้ มันก็ไม่สามารถเขียนโค้ดที่เข้ากับระบบของทีมได้ วิธีที่แนะนำคือควรแชร์โครงสร้างโปรเจคให้ AI รับรู้ เช่น การบอกว่าสไตล์โค้ดของทีมเป็นแบบไหน หรือมีข้อกำหนดพิเศษอะไรที่ควรรู้ก่อนลงมือช่วยเขียนโค้ด สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ช่วยให้ AI สร้างงานที่กลมกลืนกับระบบที่มีอยู่ได้ดีขึ้นเยอะ

ส่วนสาเหตุสำคัญอีกอย่างที่ทำให้หลายทีมเจอปัญหา คือเรื่องของ Workflow และ Review Process หลายคนพอได้โค้ดจาก AI ก็รู้สึกมั่นใจจนเอาไป deploy โดยไม่ได้ตรวจสอบอะไรเลย นี่ถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่ว่า AI จะเก่งแค่ไหน แต่มันก็ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในเรื่อง security, performance หรือ edge cases ที่อาจมีปัญหาในระยะยาว เพราะฉะนั้นทุกครั้งก่อนนำโค้ดขึ้นระบบจริง ก็ควรมีการ review อย่างละเอียดเหมือนกับที่เราทำกับโค้ดที่เขียนกันเอง

อีกพฤติกรรมที่เจอบ่อย คือพยายามใช้ AI ทำทุกอย่าง ตั้งแต่การออกแบบ architecture ไปจนถึงตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในโปรเจค ซึ่งจริง ๆ แล้ว AI ยังไม่เหมาะสำหรับการตัดสินใจที่ซับซ้อนหรือมองภาพรวมขนาดนั้น สิ่งที่ควรทำคือใช้ AI ในงานที่มันถนัด เช่น การช่วยเขียน unit tests, สร้าง boilerplate code หรือช่วยแปลงข้อมูลที่ซับซ้อนให้เป็นรูปแบบที่ใช้งานง่ายขึ้น งานเหล่านี้ AI ทำได้ดีและช่วยประหยัดเวลาให้ทีมได้มาก


วิธีทำงานกับ AI ให้เป็น "เพื่อนร่วมทีม" ที่ช่วยเพิ่ม Productivity

การใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่การสั่งให้มันทำงานให้จบ แต่คือการเข้าใจว่า AI มีจุดแข็งและข้อจำกัดต่างจากมนุษย์อย่างไร ถ้าเราออกแบบวิธีทำงานร่วมกันให้ดี มันจะช่วยยกระดับ productivity ของทั้งทีมได้จริง ๆ


มอง AI เป็น Junior Developer ที่ไม่มีวันเหนื่อย

AI ไม่ใช่อัจฉริยะที่จะรู้ทุกเรื่อง แต่มันเหมือน Junior Developer ที่เก่งเรื่องทำตามคำสั่งซ้ำ ๆ ได้รวดเร็วและไม่บ่น ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ จะรู้ว่าหน้าที่ของเราคือการกำหนดทิศทางและคุมเกมให้ดี ยกตัวอย่างเช่น ให้ AI ช่วยสร้าง CRUD endpoints ตาม spec ที่เราวางไว้ ส่วนโครงสร้างของระบบและ business logic ซับซ้อน ๆ เรายังต้องเป็นคนออกแบบและตัดสินใจเอง หรือให้ AI เขียน unit test ตาม edge cases ที่เราระบุ แล้วเราค่อยมารีวิวและปรับให้เข้ากับโค้ดจริง


Pair Programming กับ AI ช่วยให้โค้ดเสร็จเร็วขึ้น

บางคนใช้ AI แค่ถาม-ตอบ แต่จริง ๆ แล้ว AI ทำงานคู่กับเราแบบ pair programming ได้ เช่น คุณเขียนโค้ดครึ่งหนึ่ง แล้วให้ AI เขียนอีกครึ่ง หรือให้มันช่วย refactor โค้ดเดิมให้ clean ขึ้น จากนั้นเราค่อย review และปรับให้เหมาะกับ context ของโปรเจคเรา มันยังช่วยคิด test case หรือจัดการงาน routine เช่น แปลงข้อมูลหรือเขียนเอกสารได้ดีมาก ถ้าแบ่งงานให้ถูกประเภท productivity จะพุ่งแบบชัดเจน


Prompt Engineering ทักษะใหม่ที่ Developer ต้องมี

AI เก่งแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราป้อนให้มัน Prompt Engineering หรือพูดง่าย ๆ คือ "ศิลปะการตั้งคำถามและโจทย์ให้ AI เข้าใจและตอบสนองได้ตรงใจ" การสื่อสารที่ดีจะทำให้ AI เข้าใจเราและช่วยงานเราได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Prompt มีหลายประเภท แต่ที่ใช้งานจริงบ่อย ๆ คือ 2 แบบนี้

1. System Prompt: กำหนด บทบาท และ มาตรฐาน ให้ AI ก่อนเริ่มทำงาน เหมือน brief เพื่อนร่วมทีม หรือ set environment ให้ project พร้อมทำงาน

2. User Prompt: คำสั่งที่ใช้สั่งงาน AI ในแต่ละ task เฉพาะจุด เหมือน assign ticket ใน sprint ว่าจะให้ทำอะไร


ตัวอย่าง Prompt ที่ดี:

  • System Prompt (ผู้ช่วยพัฒนา Frontend – TypeScript)
    • คุณเป็นนักพัฒนา Frontend ระดับอาวุโสที่เชี่ยวชาญการพัฒนาเว็บสมัยใหม่ด้วยภาษา TypeScript
    • คุณมีหน้าที่ช่วยผู้ใช้ในการเขียนโค้ดที่สะอาด มีโครงสร้างที่ดี และสามารถขยายต่อได้ง่าย
    • คุณคุ้นเคยกับการพัฒนาแบบ Component-driven โดยใช้เฟรมเวิร์กยอดนิยมอย่าง React (รวมถึง Vue หรือ Svelte หากจำเป็น)
  • User Prompt
    • ถ้าโจทย์ไม่ชัดเจน คุณจะถามคำถามเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจความต้องการก่อน
    • ใช้วิธี “คิดก่อนเขียนโค้ด” โดยอธิบายแนวคิดก่อนแสดงโค้ด
    • ใส่คอมเมนต์ในโค้ดหากจำเป็นเพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย
    • ใช้ TypeScript อย่างเต็มที่ เช่น การใช้ interface, type, และ generic อย่างเหมาะสม
    • เขียนโค้ดตามแนวทางปฏิบัติที่ดี ทั้งเรื่อง accessibility และ performance
    • แยก logic ของ state ออกจาก UI เพื่อความสะอาดและดูแลรักษาง่าย
    • หากงานนั้นมีหลาย component หรือหลายไฟล์ ควรแนะนำโครงสร้างของไฟล์และโฟลเดอร์ที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการออกแบบโค้ดที่ซับซ้อนเกินไป ยกเว้นเมื่อผู้ใช้ร้องขอ คุณสามารถใช้ข้อมูลจำลอง (dummy data), API จำลอง, หรือวิธีจำลอง backend ได้ตามความเหมาะสม

AI ช่วย Code Review แต่ไม่ตัดสินใจแทนเรา

AI อ่านโค้ดได้เร็วและมีประโยชน์มากเวลาต้องการ feedback ด่วน ๆ เช่น ตรวจ syntax, หา duplicate code หรือแนะนำ performance improvements แต่เรื่องใหญ่อย่างการออกแบบสถาปัตยกรรม หรือ business logic ที่ซับซ้อน เรายังต้องเป็นคนตัดสินใจเองเสมอ เพราะ AI ยังขาดบริบทในเชิงกลยุทธ์หรือความเข้าใจเชิงลึกของธุรกิจเรา


สร้าง Knowledge Base ให้ AI เข้าใจทีมคุณ

ถ้าอยากให้ AI เข้าใจ project เราจริง ๆ ต้องสอนมันเพิ่มด้วยข้อมูลภายในทีม เช่น standard document, coding guideline, ตัวอย่างโค้ดที่เขียนดี เมื่อรวมทุกอย่างไว้ใน knowledge base และทำ prompt templates ให้ AI อ้างอิงได้ มันจะช่วยลดเวลาในการอธิบาย context และทำให้ output ใกล้เคียงความต้องการเรามากขึ้นทันที


ยกระดับ Code Quality ด้วย AI Pipeline

AI สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของ development workflow ได้ เช่น สั่งให้มัน review PR ใน Bitbucket หรือ GitHub ก่อนที่คนจริงจะมา review ซ้ำอีกที หรือให้ AI ช่วยตรวจสอบโค้ดผ่าน git hooks ก่อน commit วิธีนี้จะช่วยคัดกรองโค้ดคุณภาพต่ำออกไปตั้งแต่ต้น ลดภาระ review manual และทำให้ codebase แข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ


บทเรียนสำคัญจากการทำงานร่วมกับ AI

จากประสบการณ์ของทีมที่ประสบความสำเร็จในการใช้ AI เป็น "เพื่อนร่วมทีม" มีบทเรียนสำคัญที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ดังนี้

  • Garbage In, Garbage Out: คุณภาพของผลลัพธ์จาก AI ขึ้นอยู่กับคุณภาพของ prompt และข้อมูลที่เราให้ การป้อนข้อมูลที่ไม่ดีจะทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีเช่นกัน
  • AI Needs Supervision: AI ไม่ได้ทำงานได้ถูกต้องเสมอไป จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและให้คำแนะนำเสมือนกับการทำงานร่วมกับ Junior Developer
  • AI Enhances Productivity: AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยการจัดการงานที่ซ้ำซากและมีรูปแบบชัดเจน ทำให้เราใช้เวลาในการสร้างสรรค์งานมากขึ้น
  • Prompt Engineering: การเขียน prompt ที่ดีและชัดเจนเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้ AI ตอบสนองตามที่ต้องการและได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ
  • Team Workflow: การปรับ workflow ทีมให้รองรับการทำงานร่วมกับ AI ช่วยให้ทีมสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดบทบาทที่ชัดเจนสำหรับ AI และมนุษย์ในแต่ละขั้นตอน

ทีมที่นำบทเรียนเหล่านี้ไปปรับใช้พบว่าไม่เพียงแต่ประสิทธิภาพการทำงานจะเพิ่มขึ้น แต่ความพึงพอใจในการทำงานของทีมก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจาก Developer ได้ทำงานที่ท้าทายและสร้างสรรค์มากขึ้น ในขณะที่งานซ้ำซากถูกมอบหมายให้ AI ดำเนินการ

สรุป

AI กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของการพัฒนาซอฟต์แวร์ จากเครื่องมือธรรมดามาเป็นเพื่อนร่วมทีมที่ทำงานร่วมกับ Developer อย่างแท้จริง ซึ่งบทเรียนสำคัญคือ คุณภาพของ Prompt ส่งผลต่อคุณภาพของผลลัพธ์ AI ต้องการการกำกับดูแล และทีมต้องปรับ Workflow ให้เหมาะสม โดยกุญแจสู่ความสำเร็จอยู่ที่การออกแบบวิธีทำงานที่เข้าใจจุดแข็งและข้อจำกัดของทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างพลังร่วมระหว่างความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และประสิทธิภาพของ AI ที่เสริมกัน ลดเวลาในงานซ้ำซาก และเพิ่มเวลาให้กับงานที่สร้างมูลค่าสูง

---

AI DETA มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศ, การพัฒนาระบบ ERP และการปรับแต่ง Odoo ERP, การพัฒนาและจัดการ Cloud-Based Solution/Application, โซลูชันด้านข้อมูล การเรียนรู้ของเครื่องจักร และปัญญาประดิษฐ์ (Data/ML/AI Solution), รวมถึงการให้คำปรึกษา หรือ Outsource ให้แก่องค์กรต่าง ๆ และพวกเราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการทำ Digital Transformation ให้กับองค์กรของคุณ


หากมีความสนใจให้พวกเราเป็นผู้พัฒนาระบบหรือให้คำปรึกษา หรือต้องการสอบถามอัตราค่าบริการต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ทางอีเมล [email protected] หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://aideta.com

---

อ้างอิง


© 2025, AI DETA COMPANY LIMITED, All Rights Reserved
Attributions